หนี้สินหมุนเวียน และ หนี้สินไม่หมุนเวียน คือ ประกอบด้วย 15 ประเภท

Click to rate this post!
[Total: 2513 Average: 5]

หากพิจารณาจากสมการบัญชี “สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนทุนของเจ้าของกิจการ” จะพบว่าการดำเนินธุรกิจทุกประเภทโดยเฉพาะธุรกิจระดับกลางถึงขนาดใหญ่ จะไม่สามารถประกอบกิจการได้โดยอาศัยส่วนทุนของเจ้าของกิจการเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากการสร้างหนี้โดยทำการกู้ยืม ทั้งจากบุคคลและจากสถาบันการเงินเพื่อแปรเปลี่ยนมาเป็นทุนในการซื้อสินทรัพย์ ดังนั้นหนี้สินจึงเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีต ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปในอนาคต โดยภาระผูกพันที่กล่าวถึงนี้ หมายถึง ความรับผิดชอบชำระหนี้ให้แก่บุคคลหรือสถาบันการเงิน ทั้งในรูปแบบเงินสด ทรัพย์สิน สินค้าหรือการบริการตามแต่ที่ระบุในสัญญา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสร้างหนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กิจการดำเนินต่อไปได้ แต่การมีหนี้สินของกิจการต้องอยู่ในเกณฑ์กำหนด เพียงพอต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึงการจัดประเภทหนี้สิน เพื่อเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปวิเคราะห์และเลือกประเภทหนี้ที่เหมาะสมกับกิจการ อีกทั้งสามารถจัดทำงบการเงินได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งหนี้สินสามารถแบ่งตามระยะเวลาที่จะครบกำหนดของการชำระหนี้ ได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) เป็นหนี้สินระยะสั้นของกิจการ กล่าวคือจะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ระบุในรายงานงบดุลฉบับล่าสุด ซึ่งประกอบไปด้วยหนี้สินจากการดำเนินงานปกติของกิจการซึ่งจะครบรอบชำระภายในรอบระยะเวลาดำเนินธุรกิจตามปกติ เช่น
· เจ้าหนี้การค้า หมายถึง การซื้อในรูปแบบของเครดิต ซึ่งผู้ขายยอมให้รับสินค้าและบริการไปก่อนแล้วค่อยรับเงินภายหลังตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้
· เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร หมายถึง สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินงานปกติของกิจการในแต่ละวัน
· ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจ่ายจนกว่าจะถึงรอบบัญชีถัดไป เช่น ค่าไฟ ค่าแรงคนงาน เป็นต้น
· รายได้รับล่วงหน้า หมายถึง รายได้ ที่กิจการได้รับมาแล้วแต่ยังไม่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ
นอกจากนี้ หนี้สินหมุนเวียนยังหมายถึง ส่วนของหนี้สินระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี เช่น เงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินกู้เพื่อขยายกิจการ เป็นต้น
2. หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non – Current Liabilities) หมายถึง หนี้สินระยะยาวที่เป็นภาระผูกพันของกิจการและมีระยะเวลาการชำระหนี้มากกว่า 1 ปีขึ้นไป ได้แก่
· เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินในการประกอบกิจการ เช่น กู้ยืมเพื่อสร้างโรงงานหรือซื้อเครื่องจักร ซึ่งมีระยะเวลาการชำระหนี้มากกว่า 1 ปีขึ้นไป
· หุ้นกู้และพันธบัตร เป็นเงินกู้ยืมระยาวด้วยจุดประสงค์เดียวกับการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน แต่เจ้าหนี้คือนักลงทุน/หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการชำระหนี้สั้นกว่าการกู้ยืมจากธนาคาร
· ตั๋วเงินจ่ายระยะยาว หรือตั๋วที่สัญญาว่าจะใช้เงินในอนาคต ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับหุ้นกู้ มีสัญญาการจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย เพียงแต่ดำเนินการได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่ต้องนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์
· หนี้จำนอง เป็นการกู้ยืมโดยใช้ทรัพย์สินของกิจการเข้าจำนองกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนในกิจการ
ซึ่งหนี้สินดังที่กล่าวมาเป็นหนี้สินที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปกติของกิจการ แต่จำเป็นต้องสร้างหนี้เพื่อการลงทุนหรือขยายกิจการ โดยหากอาศัยเงินลงทุนจากเจ้าของกิจการอาจไม่เพียงพอ หรืออาจะมีเหตุผลอื่นๆประกอบด้วย เช่น ต้นทุนที่ต่ำกว่า ผลประโยชน์ทางด้านภาษี การสร้างเครดิตให้กับกิจการ เป็นต้น
ดังนั้น หากพิจารณาจากประเภทของหนี้สิน จะเห็นได้ว่าการแยกประเภทหนี้สินและลงบันทึกในงบดุลให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมากของกิจการ เพราะภาระหนี้สินเป็นตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของกิจการ เพราะหากหนี้สินมีจำนวนน้อยกว่าทรัพย์สิน อีกทั้งหากคำนวนโดยการนำสินทรัพย์หมุนเวียนมาลบออกจากหนี้สินหมุนเวียนแล้วให้ผลเป็นบวก แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องและมีความสามารถเพียงพอต่อการชำระหนี้ เป็นการเสริมภาพลักษณ์ให้กิจการมั่นคงในสายตานักลงทุนและคู่ค้า

ใส่ความเห็น

cachecache